กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

ความเป็นมาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

           โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการลงวันที่
27 กรกฎาคม 2536  มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 3 รอบ โดยกำหนดให้เป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ให้แก่นักเรียนตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเตรียมบุคลากรไว้รองรับโครงการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งอบรมนักเรียนให้เป็นกุลบุตรและกุลสตรี ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม สามารถพึ่งตนเอง และมีประโยชน์ต่อสังคม

 

           สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมาเป็นลำดับ จากปี พ.ศ. 2536 ถึง ปี พ.ศ. 2563 มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้นดังนี้

          วันที่ 27 กรกฎาคม 2536 ประกาศกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยขึ้น 4 โรงเรียน และต่อมามีประกาศจัดตั้งเพิ่มจนครบ 12 โรงเรียนในปี พ.ศ. 2538 ในประกาศดังกล่าวให้โรงเรียนมีชื่อว่า “โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์    อัครราชกุมารี”

 

          วันที่ 10 กันยายน 2536 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระอนุญาตให้ขนานนามโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า “โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ” และใช้นามภาษาอังกฤษว่า “Princess Chulabhorn College’s” และต่อมาได้พระทานแผ่นศิลาฤกษ์และตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2539 และวันที่ 10 ตุลาคม 2539 ตามลำดับ

 

          วันที่ 18 ธันวาคม 2545 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี และต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2536 ได้รับพระกรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรยายพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์พระราชทานแก่ นักเรียน ผู้บริหาร และคณะครู  ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี

 

          พ.ศ. 2548 ครู และผู้บริหารของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้เริ่มทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีครู และผู้บริหารจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยจำนวนมาก ได้เข้ามาฝั่งตัวเพื่อสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิตประจำวัน ตอลด 24 ชั่วโมงของนักเรียนและครูโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในฐานะที่เป็นโรงเรียนประจำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ  เพื่อเป็นฐานในการเร่งรัดการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความรู้และนวัตกรรมได้เอง รวมทั้งเป็นการกระจายโอกาสให้กับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศได้รับโอกาสมากขึ้น และเป็นการยกระดับการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย  จึงได้ร่วมมือกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มากขึ้น เตรียมความพร้อมครูและบุคคลากรของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพื่อการจัดการเรียนการสอนนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทำนองเดียวกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

 

          วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เรื่อง “ความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนนักเรียนห้องวิทยาศาสตร์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย” โดยทดลองจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยจำนวนโรงเรียนละ 1 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน โดยหลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการรับนักเรียนห้องเรียนนี้ ใช้รูปแบบเดียวกับของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และได้รับการสนับสนุนทรัพยากรทำนองเดียวกันกับของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จากการประเมินผลการดำเนินงานพบว่าโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่ง ซึ่งผลการประเมินนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในระยะต่อมา

          วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีภารกิจหน้าที่ดังนี้

  1. เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาด้วยหลักสูตรเฉพาะสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ในลักษณะโรงเรียนประจำ
  2. เป็นโรงเรียนที่รับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษในพื้นที่บริการโดยเน้นการให้โอกาสนักเรียนผู้มีศักยภาพสูงด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ
  3. เป็นโรงเรียนที่เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ
  4. เป็นโรงเรียนต้นแบบของภูมิภาค
  5. เป็นโรงเรียนที่ต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ

นอกจากนั้นยังกำหนดให้โรงเรียนดำเนินการสรรหานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ มาบ่มเพาะและพัฒนาให้มีคุณลักษณะดังนี้

  1. เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
    หรือศาสนา ที่ตนนับถือ มีคุณธรรม จริยธรรม มีบุคลิกภาพที่ดีและมีความเป็นผู้นำ
  2. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
    อย่างลึกซึ้ง ในระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ
  3. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตวิญญาณของความเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้น และนักพัฒนาที่ดีด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ
  4. รักการเรียนรู้ รักการอ่าน รักการเขียน รักการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ มีความรอบรู้ รู้รอบ
    และสามารถบูรณาการความรู้ได้
  5. มีความรู้และทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ
  6. มีจิตสำนึกในเกียรติภูมิของความเป็นไทย มีความเข้าใจและภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ
    มีความรักและความภาคภูมิใจในชาติบ้านเมืองและท้องถิ่น เป็นพลเมืองดี ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  7. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย ประเพณีไทยและภูมิปัญญาไทย ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเจตคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมโลกและธรรมชาติ
  8. มีจิตมุ่งที่จะทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามให้กับสังคม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องการตอบแทนบ้านเมืองตามความสามารถของตนอย่างต่อเนื่อง
  9. มีสุขภาพอนามัยที่ดี รักการออกกำลังกาย รู้จักดูแลตนเองให้เข้มแข็ง ทั้งกายและใจ
 

          ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์คิดค้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสามารถระดับสูงเยี่ยมในระดับเดียวกันกับนักวิจัยชั้นนำของนานาชาติ และมีจิตวิญญาณมุ่งมั่นพัฒนาประเทศชาติ มีเจคติที่ดีต่อเพื่อร่วมโลกและธรรมชาติ สามารถสร้างองค์ความรู้ดานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศชาติและสังคมไทยในอนาคต ช่วยพัฒนาประเทศชาติให้ดำรงอยู่และแข่งขันในประชาคมโลก ให้เป็นสังคมผู้ผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ สังคมแห่งคุณภาพและแข่งขันได้ และสังคมที่ยั่งยืนพอเพียง มีความสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกัน

          วันที่ 23 มิถุนายน 2554 สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานผลการวิจัยตามโครงการวิจัยและพัฒนากฎหมายเพื่อการบริหารจัดการโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย  ข้อเสนอหนึ่งที่สำคัญคือ เสนอให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย  ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ อ.ก.ค.ศ. ที่ตั้งขึ้นเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลที่มีอำนาจและหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความอิสระในการบริหารและจัดการโรงเรียนของตนอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้ ได้มีการตั้ง อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเฉพาะกิจการบริหารงานบุคคลกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ขึ้นแต่ยังไม่เป็นองค์คณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ตามข้อเสนอแนะของคณะนักวิจัยดังกล่าว

          วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานผลการดำเนินงานของโรงเรียนและขอรับพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ที่พระราชทานพระราชวโรกาสให้กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เป็นประจำทุกปีการศึกษา ในการเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทแต่ละครั้งได้พระราชทานพระราชดำริต่าง ๆ จำนวนมาก เกี่ยวกับการพัฒนาโรงเรียน และกลุ่มโรงเรียนได้น้อมนำไปปฏิบัติ จนทำให้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สามารถพัฒนาก้าวหน้า มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศเฉกเช่นทุกวันนี้

          วันที่ 3 กรกฎาคม 2561 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานพระอนุญาตให้ขนานนามโรงเรียนว่า

“โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย” และใช้นามภาษาอังกฤษว่า “Princess Chulabhorn Science High School” ต่อมาได้มีประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียนดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 72ง วันที่ 20 กันยายน 2561

          วันที่ 5 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติให้โครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย
ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553  เป็นงานประจำของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค และเตรียมกำลังคนที่มีศักยภาพระดับสูงทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0 และมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ ได้เพิ่มภารกิจของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย อีกหนึ่งข้อ คือ

“เป็นโรงเรียนที่เป็นศูนย์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ศึกษาในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย (Regional Science Education Hub) เพื่อให้บริการวิชาการ และยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่บริการ”

          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการเร่งรัดพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่ง ให้มีคุณภาพระดับเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย ในลักษณะของโรงเรียนประจำ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
และนวัตกรรม ให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่สามารถทำการวิจัย
และพัฒนาเพื่อสร้างความรู้และนวัตกรรมได้

2 ประเทศไทยจะมีนักวิชาการชั้นนำที่จะเป็นหัวรถจักรในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตมากขึ้น

3 ประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพจำนวนมากขึ้นมีสัดส่วนทัดเทียมกับที่มีอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

4 เป็นการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กระจาย
อย่างทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญทางปัญญาในการสร้างและเผยแพร่ความรู้
และใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน การเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

5 เป็นการสร้างความมั่นใจกับนักลงทุน โดยเฉพาะแหล่งทุนจากต่างประเทศว่า มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้การลงทุนกระจายตัวไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

6 ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติสูงขึ้น

7 เป็นแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่เท่านั้น

8 เป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวของนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี
ให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

9 ประเทศไทยจะพัฒนาและสามารถยกระดับรายได้มวลรวมของประเทศ ทำให้สามารถก้าวข้าม
กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) สู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามวิสัยทัศน์
ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้เร็วขึ้น

10 ปี การพัฒนาต่อยอด โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามอุดมการณ์

“10 ปี การพัฒนาต่อยอดโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามอุดมการณ์”

10 YEARS ENHANCEMENT OF PRINCESS CHULABHORN SCIENCE HIGH SCHOOL FOR ACADEMIC EXCELLENCE

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง

สัมฤทธิผลการจัดการศึกษาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย