สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน Thailand-Japan Student Science Fair 2020 แบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ

เวลา 08.56 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ห้องประชุม วังสระปทุม ทรงเปิดงาน Thailand-Japan Student Science Fair 2020 แบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ ถ่ายทอดสดจากวังสระปทุม กรุงเทพมหานคร ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยและญี่ปุ่น ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรม ผ่านการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ และทำกิจกรรมภายใต้แนวคิด “การบ่มเพาะนวัตกรรมผ่านมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างเยาวชนไทยและญี่ปุ่น” เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพื่อเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 400 คน เป็นผู้บริหาร ครู และนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น จำนวน 53 โรงเรียน มีกิจกรรมหลัก คือ การนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ 124 โครงงาน, กิจกรรมทางวิชาการ อาทิ กิจกรรมศึกษาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลผ่านระบบออนไลน์ ณ หาดราชมงคล หาดปากเมง เกาะลิบง อ่าวขาม จังหวัดตรัง, กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ศึกษาดูงานเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถานที่หลักรับสัญญาณออนไลน์จากที่ต่าง ๆ ถ่ายทอดให้ผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งที่ไทยและญี่ปุ่นได้รับชม

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสเปิดงาน และทอดพระเนตรพิธีเปิดแบบออนไลน์, การแนะนำโรงเรียนที่ร่วมเสนอผลงาน และทรงฟังบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์ ทากะอะกิ คาจิตะ นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2015 เรื่อง สมบัติของการแกว่งกวัดนิวตริโน ซึ่งค้นพบว่าอนุภาคนิวตริโน มีสมบัติที่สามารถเปลี่ยนชนิดของอนุภาคนิวตริโนชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ ทำให้ทราบว่านิวตริโนมีมวลที่ส่งผลให้เกิดความรู้ใหม่ด้านฟิสิกส์ ทีมนักวิจัย และองค์กรที่เกี่ยวข้องจึงร่วมมือกัน สร้างเครื่องตรวจวัดใหม่ เรียกว่า Super Kamiokande หรือ Super K นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า นิวตริโน เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับอนุภาคมูลฐานและจุดกำเนิดของจักรวาล

จากนั้น ทอดพระเนตรการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับคัดเลือก 2 โครงงาน ได้แก่ โครงงานสาขาฟิสิกส์ เรื่องปรากฏการณ์ของการปรับปรุงลักษณะดาวเทียมกระป๋อง มุ่งเน้นที่การทดลองการบินของ Tokyo Tech High School of Science and Technology ประเทศญี่ปุ่น เป็นการศึกษาการลดระดับความสูงของดาวเทียม Cansat ทำให้เกิดปรากฏการณ์ CMP-Convergence ซึ่งเป็นผลมาจากไจโรสโคปที่ติดมากับดาวเทียม, โครงงานสาขาวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องแบบจำลองการเพิ่มอัตราการไหลด้วยสมการเฮลิคอยด์ สำหรับการลำเลียงลิ่มเลือดในการรักษาทางการแพทย์ ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ซึ่งพบว่าเกลียวเฮลิคอยด์ทรงพาราโบลอยด์ สามารถเพิ่มอัตราการไหลของการลำเลียงลิ่มเลือดในทางการแพทย์ได้ดีกว่าทรงกรวยและทรงกระบอก

https://news.ch7.com/detail/469596

admin@eseb.obec

admin@eseb.obec

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *