สพฐ. จัดประชุมชี้แจงโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี

วันที่ 6 กันยายน 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมชี้แจงและมอบนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ภายใต้โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ให้กับผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ โดยมีนายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานและมอบนโยบายการกำกับ ติดตาม และนิเทศการขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบให้เกิดความยั่งยืนถึงตัวนักเรียน โดยถ่ายทอดสดผ่านระบบ Video Conference และสื่อออนไลน์ของ สพฐ. ไปยังผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนในโครงการฯ จำนวนกว่า 1,000 คน ได้รับชมพร้อมกันทั่วประเทศ

สำหรับโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เป็นโครงการเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในทุกพื้นที่ โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้จัดทำแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ในระยะเตรียมการของโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ครูผู้สอน และโรงเรียน โดยได้ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกโรงเรียนเพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนศูนย์ในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ซึ่งทาง สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานความร่วมมือเพื่อพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ที่มีความพร้อมตามคุณสมบัติและมีศักยภาพในการเป็นโรงเรียนศูนย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ผลการคัดเลือกโรงเรียนศูนย์ฯ ปรากฏว่า ในระดับประถมศึกษา มีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 355 โรงเรียน จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และมีโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการ ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 96 โรงเรียน ขณะที่ในระดับมัธยมศึกษา มีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 217 โรงเรียน จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และมีโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการ ในรอบที่ 1 จำนวนทั้งสิ้น 95 โรงเรียน ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ 1 จะดำเนินการตามเงื่อนไขในการสร้างเครือข่ายโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัด เพื่อพิจารณารับรองให้เป็นโรงเรียนศูนย์ฯ ระดับมัธยมศึกษาต่อไป

Watcharin Japamaka

Watcharin Japamaka

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *