ครม.เห็นชอบการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษา ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
สรุปมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (รร.จ.ภ.)
การดำเนินโครงการพัฒนา รร.จ.ภ. ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีจุดมุ่งหมายพิเศษในการจัดการศึกษาให้กับนักเรียนผู้มีศักยภาพสูงสุดและมีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนานักเรียนดังกล่าวให้มีความสามารถศึกษาต่อทางด้าน STEM ในมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลก เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี วิศวกร และนักคณิตศาสตร์
การดำเนินการของกลุ่ม รร.จ.ภ. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านการเตรียมความพร้อมด้าน STEM เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบาย Thailand 4.0 รวมถึงเป็นการเตรียมกำลังคนระดับสูงทางด้าน STEM เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ลงทุนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศ ดังนั้น การพัฒนากลุ่ม รร.จ.ภ. ให้ก้าวหน้า ก้าวทันยุคสมัย จึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแนวทางพัฒนา โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการ ดังนี้
- พัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษา (ระดับตำบล) ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (รร.จ.ภ.) ประจำเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย
เขตตรวจราชการที่ | จังหวัดเขตพื้นที่บริการ |
3 | กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี |
9 | จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว |
12 | กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด |
14 | ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี |
15 | เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน |
18 | กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี |
รวมทั้งเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว (จำนวน 6 แห่ง แห่งละประมาณ 545.993 ล้านบาท) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2569 (ระยะเวลารวม 5 ปี) รวมงบประมาณจำนวน 3,275.958 ล้านบาท ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. | 2565 | 2566 | 2567 | 2568 | 2569 | รวม |
งบประมาณ (ล้านบาท) | 443.400 | 781.098 | 870.060 | 749.700 | 431.700 | 3,275.958 |
นอกจากนี้ ให้ปรับปรุงแก้ไขจังหวัดเขตพื้นที่บริการ รร.จ.ภ. ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนและบริบทเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ระบบราชการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการ และดำเนินการจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารงานกลุ่ม รร.จ.ภ. ให้เกิดเอกภาพ มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพในการบริหารงานบุคคล วิชาการ งบประมาณ และบริหารทั่วไปเพื่อเป็นต้นแบบต่อไป
2. ให้มีคณะกรรมการพัฒนา รร.จ.ภ. มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำการบริหารงานและการพัฒนา รร.จ.ภ. แก่ ศธ. สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และหน่วยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการกำหนดนโยบาย ทิศทาง การพัฒนา กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของ รร.จ.ภ.
#ศธ. 360 องศา